ตกขาวแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ตกขาวปกติกับตกขาวผิดปกติ ซึ่งแต่ละประเภทมีลักษณะดังนี้


1.ตกขาวปกติ (Physiologic leukorrhea)

ตกขาวปกติจะมีลักษณะคล้ายแป้งเปียก มีปริมาณไม่มาก ไม่เหม็น ไม่คัน โดยอาการตกขาวประเภทนี้สามารถเกิดบ่อยขึ้นในระยะที่มีการตกไข่ ขณะมีเพศสัมพันธ์ และผู้หญิงตั้งครรภ์ ได้เป็นปกติ
ตกขาวปกติสามารถเกิดจากส่วนผสมของสารคัดหลั่งจากอวัยวะสืบพันธุ์ส่วนนอก คือ ต่อมไขมัน ต่อมเหงื่อ ต่อมเมือก
นอกจากนี้ยังเกิดจากสารคัดหลั่งจากผนังช่องคลอด เซลล์ที่หลุดลอก จากช่องคลอดและปากมดลูก มูกของปากมดลูก น้ำจากโพรงมดลูก น้ำจากท่อนำไข่ จุลชีพ


2.ตกขาวผิดปกติ (Pathological leukorrhea)

ตกขาวผิดปกติจะแตกต่างจากตกขาวปกติ ตรงที่จะมีปริมาณมากกว่าปกติ หรือมีกลิ่น โดยลักษณะกลิ่นอาจพบได้ เช่น เหม็นเปรี้ยว เหม็นเค็ม และมีลักษณะผิดปกติ เช่น มีลักษณะมูกปนหนอง หรือเป็นฟอง หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คัน แสบ ร้อน บริเวณปากช่องคลอด
สาเหตุหลักของการตกขาวผิดปกตินั้นเกิดจากภาวะอักเสบติดเชื้อ โดยเชื้อส่วนใหญ่นั้นเป็นได้ทั้งแบคทีเรีย เชื้อรา หรือแม้กระทั้งโปรโตซัว
ส่วนสาหตุอื่นที่พบได้ไม่บ่อยอาจมาจากสิ่งแปลกปลอม เช่น กระดาษชำระ สำลี รวมไปถึงภาวะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิงหลังวัยหมดประจำเดือน หรือจากการสัมผัสสารเคมีที่ก่อให้เกิดการแพ้และระคายเคือง
ตกขาวลักษณะดังกล่าวนี้ควรได้รับการรักษาต่อเนื่องโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือถ้าไม่มั่นใจว่าตกขาวของตนเองนั้นเป็นตกขาวปกติหรือไม่ ควรพบสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
สูตินรีแพทย์อาจจะมีวิธีตรวจรักษาโดยการตรวจภายใน คลำบริเวณช่องท้องช่องคลอด ดูลักษณะของมูกหรือสารคัดหลั่งในบริเวณช่องคลอด อัลตราซาวด์ หรือส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ตามแต่ละกรณีและสาเหตุ





“ตกขาว” บ่งบอกภาวะตั้งครรภ์ได้หรือไม่ อย่างไร?

ตกขาวในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์อ่อน จะมีลักษณะเหนียวข้นและปริมาณมาก สืบเนื่องจากอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิง (Progesterone) ซึ่งลักษณะดังกล่าวสามารถช่วยบ่งชี้ว่าอาจจะตั้งครรภ์อยู่
แต่การวินิจฉัยว่ามีการตั้งครรภ์หรือไม่นั้นมีวิธีอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพดีกว่า และง่ายกว่าการดูตกขาวเพียงอย่างเดียว เช่น การตรวจปัสสาวะ หรือเจาะเลือดเพื่อดูฮอร์โมนของการตั้งครรภ์ (Bhcg) โดยตรง หรือการทำการอัลตราซาวด์ทั้งทางช่องคลอดหรือทางหน้าท้องโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ประกอบกับภาวะที่ตกขาวมีปริมาณมากขึ้นหรือเหนียวข้นมากขึ้นอาจจะมีสาเหตุอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการตั้งครรภ์ได้ด้วย





ตกขาวเยอะมากตอนท้อง เป็นเพราะอะไร อันตรายหรือไม่?

ในช่วงตั้งครรภ์ ช่วงนี้ฮอร์โมนในร่างกายของผู้หญิงส่วนใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะฮอร์โมนเพศหญิง (Progesterone) จะสูงขึ้นกว่าตอนไม่ตั้งครรภ์มาก
อิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะมีผลต่อลักษณะและปริมาณของตกขาว ที่อาจจะออกมาปริมาณมากกว่าปกติ
การเปลี่ยนแปลงของร่างกายในช่วงตั้งครรภ์นี้อาจทำให้คุณแม่หลายคนเกิดความกังวลใจว่าจะมีผลต่อลูกในครรภ์ แต่ขอให้สบายใจได้ เพราะภาวะดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้โดยที่ไม่มีผลกระทบต่อทั้งตัวคุณแม่และทารกในครรภ์
ทั้งนี้ คุณแม่ต้องหมั่นคอยสังเกตว่าตกขาวที่ออกมานั้นมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ สีเปลี่ยนไปอย่างไร หรือมีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วยหรือไม่ที่จะเข้าข่ายตกขาวผิดปกติ
ซึ่งอาการที่ว่านั้น ได้แก่ คันบริเวณช่องคลอด หรือมีปัสสาวะแสบขัดร่วมด้วย ฯลฯ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ
ที่พบได้บ่อยคือ การอักเสบติดเชื้อของบริเวณช่องคลอดหรือปากมดลูก แต่โดยส่วนใหญ่มักไม่รุนแรง และไม่ได้ก่อให้เกิดผลเสียร้ายแรงต่อทั้งคุณแม่และลูกในท้อง
อาการต่างๆ เหล่านี้ ถ้าเกิดขึ้นให้รีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป


ตกขาวปกติ

ผนังด้านในช่องคลอดบุด้วยเซลล์ชนิดเยื่อเมือกคล้ายเซลเยื่อเมือกที่บุในช่องปากและจมูก เซลล์นี้สร้างน้ำเมือกซึ่งมีลักษณะคล้ายแป้งละลายน้ำ ปกติไม่มีกลิ่น หรืออาจมีกลิ่นคาวเล็กน้อย น้ำเมือกนี้ช่วยหล่อลื่นช่องคลอด ช่วยขับสิ่งแปลกปลอม ฆ่าเชื้อโรค และปรับสภาพความเป็นกรดด่างในช่องคลอดให้สมดุล ในแต่ละรอบประจำเดือนมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนในร่างกาย ซึ่งส่งผลต่อสภาพและปริมาณของน้ำเมือกในช่องคลอด ในช่วงกลางของรอบเดือน (ราววันที่ 14 ของรอบเดือน) เป็นช่วงใกล้เวลาไข่ตก น้ำเมือกในช่องคลอดจะเหลวใส และมีปริมาณมาก ส่วนช่วงอื่นน้ำเมือกจะข้น ขาวขุ่นคล้ายแป้งเปียก อย่างไรก็ดี ปริมาณน้ำเมือกในช่องคลอดมากหรือน้อยเพียงไรขึ้นกับแต่ละคน บางคนไม่รู้สึกว่ามีน้ำเมือกออกมาจากช่องคลอด (ตกขาว) บางคนอาจรู้สึกว่ามีตกขาวในช่วง กลางรอบประจำเดือน หรือรู้สึกว่าทำไมตกขาวใสๆ จึงเปลี่ยนเป็นข้นขึ้น เลยเข้าใจว่าเกิดความผิดปกติ ทั้งที่แท้จริงแล้วเป็นปกติ สิ่งที่พึงสังเกตคือ ตกขาวแบบปกติมักไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น แสบหรือคันช่องคลอด และมักหายได้เองโดยไม่ต้องให้การรักษาใดๆ ผู้หญิงทุกคนมีตกขาวเป็นเรื่องปกติ ช่วงเด็กอาจมีเพียงเล็กน้อย เมื่อถึงช่วงเริ่มมีประจำเดือน ตกขาวจะมากขึ้นและมีปริมาณที่พอเหมาะจนถึงวัยสูงอายุ จากนั้นปริมาณลดลงจนแทบไม่มี บางช่วงอาจมีตกขาวมากกว่าปกติ เช่น ขณะตั้งครรภ์ เวลาที่มีการกระตุ้นทางเพศ หลังจากมีกิจกรรมทางเพศ หรือเมื่อใช้ยาคุมกำเนิดบางชนิด เป็นต้น

ตกขาวผิดปกติ

หากมีน้ำเมือกออกมาทางช่องคลอดปริมาณมากผิดปกติร่วมกับมีอาการคัน หรือปวดแสบปวดร้อน มีกลิ่นเหม็น และมีอาการเป็นอยู่นาน ไม่หายไปเอง เหล่านี้คืออาการของตกขาวที่ผิดปกติ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากมีการอักเสบติดเชื้อในช่องคลอด เรียกว่า “ช่องคลอดอักเสบ” สาเหตุรองลงมาได้แก่ เนื้องอก หากเกิดจากเนื้องอก มักมีเลือดปนในตกขาวด้วย ตกขาวผิดปกติยังอาจเกิดจากสิ่งแปลกปลอมในช่องคลอด เช่น ผ้าอนามัยชนิดสอดช่องคลอด หรือถุงยางคุมกำเนิด เป็นต้น

การอักเสบติดเชื้อในช่องคลอด อาจเกิดได้จากเชื้อหลายประเภท ทั้งเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย เชื้อปรสิต กรณีติดเชื้อรามักมีตกขาวลักษณะคล้ายนม หรือยางมะละกอ บางครั้งเป็นก้อน มักมีอาการคันมาก ร่วมกับมีผื่นคัน แดงหรือบวมที่บริเวณปากช่องคลอด เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ เชื้อราที่เป็นสาเหตุสำคัญคือ Candida albicans เป็นเชื้อราที่ชอบสภาพแวดล้อมที่ร้อนชื้นแบบในช่องคลอด การใส่เสื้อผ้าที่คับมาก สภาพร่างกายที่อ้วนมาก ทำให้ช่องคลอดอับชื้นก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เชื้อชนิดนี้เจริญเติบโตดี นอกจากนี้ ช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อรายังอาจเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะ หรือยาสเตียรอยด์ โรคเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ การตั้งครรภ์หรือใช้ยาคุมกำเนิด หรือวัยหมดประจำเดือน เป็นต้น อย่างไรก็ดี ช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อราอาจไม่มีอาการแสดงอะไรเลยก็ได้

ช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียอาจเกิดขึ้นเอง หรือติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ มักเกิดในหญิงที่ใช้ห่วงคุมกำเนิด ความผิดปกติเกิดจากการมีแบคทีเรียชนิดใดชนิดหนึ่งเจริญเติบโตมากกว่าปกติ ทำให้แบคทีเรียชนิดที่มีประโชยน์ต่อร่างกาย คือ lactobacilli ในช่องคลอดมีจำนวนลดลง ตกขาวจากการติดเชื้อแบคทีเรียมักมีสีขาว สีเทา หรือสีเหลือง อาจมีกลิ่นคาวปลา รวมทั้งอาจมีอาการคัน แสบร้อนช่องคลอด ร่วมด้วย

ช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อปรสิต Trichomonas vaginalis ติดต่อโดยการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีการติดเชื้อนี้อยู่ ตกขาวมักมีสีเหลือง เป็นฟอง และมีกลิ่นเปรี้ยว ความผิดปกติในช่องคลอดยังอาจเกิดได้จากเหตุอื่นนอกจากการติดเชื้อ เช่น การฉีดล้างช่องคลอด การใช้สบู่หอม การใช้สารฆ่าอสุจิ อาจทำให้เกิดการแพ้หรือระคายเคืองช่องคลอด การลดลงของฮอร์โมนเพศหญิงในวัยหมดประจำเดือนจะทำให้เยื่อบุช่องคลอดบางลง ก็ทำให้ช่องคลอดเกิดอาการคันและแสบร้อนได้เช่นกัน

การรักษาตกขาวผิดปกติ

ยาที่ใช้สำหรับช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ให้ได้ทั้งวิธีรับประทานหรือสอดเข้าช่องคลอด เช่นMetronidazole 500 mg รับประทาน วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน
Metronidazole gel 0.75% ครั้งละ 5 กรัม สอดเข้าช่องคลอดโดยใช้ applicator (บีบยาเต็ม applicator ที่ให้มาด้วยในกล่องยา แล้วสอด applicator พร้อมยาเข้าไปข้างในช่องคลอดให้ลึกที่สุดตราบเท่าที่ไม่รู้สึกเจ็บ แล้วค่อยๆ กดแกนกลางของ applicator เพื่อปล่อยยาเข้าช่องคลอด) วันละครั้ง ก่อนนอน เเป็นเวลา 5 วัน
Clindamycin cream 2% ครั้งละ 5 กรัม สอดเข้าช่องคลอด โดยใช้ applicator วันละครั้ง ก่อนนอน เป็นเวลา 7 วัน
Metronidazole 2 g รับประทานครั้งเดียว
Clindamycin 300 mg รับประทาน วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน
Clindamycin ovules 100 g สอดเข้าช่องคลอด วันละครั้ง ก่อนนอน เป็นเวลา 3 วัน
ยาที่ใช้สำหรับช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อรา โดยมากเป็นยาเหน็บ หรือ ยาทาช่องคลอด เช่นButoconazole 2% cream ครั้งละ 5 กรัม สอดเข้าช่องคลอดโดยใช้ applicator วันละครั้ง ก่อนนอน เป็นเวลา 3 วัน
Clotrimazole 1% cream ครั้งละ 5 กรัม สอดเข้าช่องคลอดโดยใช้ applicator วันละครั้ง ก่อนนอน เป็นเวลา 7–14 วัน
Clotrimazole 100 mg สอดช่องคลอด วันละครั้ง ก่อนนอน เป็นเวลา 7 วัน
Clotrimazole 100 mg vaginal tablet สอดเข้าช่องคลอด วันละ 2 เม็ด ก่อนนอน เป็นเวลา 3 วัน
Clotrimazole 500 mg vaginal tablet สอดเข้าช่องคลอด 1 เม็ดครั้งเดียว
Miconazole 2% cream ครั้งละ 5 กรัม สอดเข้าช่องคลอดโดยใช้ applicator วันละครั้ง ก่อนนอน เป็นเวลา 7 วัน
Miconazole 100 mg vaginal suppository สอดช่องคลอด วันละครั้ง ก่อนนอน เป็นเวลา 7 วัน
Miconazole 200 mg vaginal suppository สอดช่องคลอดวั นละครั้ง ก่อนนอน เป็นเวลา 3 วัน
Miconazole vaginal ovule 1200mg ครั้งเดียว
Miconazole 400mg สอดช่องคลอด วั นละครั้ง ก่อนนอน เป็นเวลา 3 วัน
Tioconazole 6.5% ointment 5 กรัมครั้งเดียว สอดเข้าช่องคลอดโดยใช้ applicator
Terconazole 0.4% cream ครั้งละ 5 กรัม สอดเข้าช่องคลอดโดยใช้ applicator วันละครั้ง ก่อนนอน เป็นเวลา 7 วัน
Terconazole 0.8% cream ครั้งละ 5 กรัม สอดเข้าช่องคลอดโดยใช้ applicator วันละครั้ง ก่อนนอน เป็นเวลา 3 วัน
Terconazole 80 mg vaginal suppository ใส่ช่องคลอด วันละครั้ง ก่อนนอน เป็นเวลา 3 วัน
รับประทานยาเม็ด Fluconazole 150 mg 1 เม็ดครั้งเดียว
รับประทาน Itraconazole 200mg วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 1 วัน
ยาที่ใช้สำหรับช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อปรสิต Trichomonas vaginalis ใช้ยารับประทาน โดยต้องรักษาคู่นอนพร้อมกันไปด้วยแม้ว่าจะไม่มีอาการ ยาที่ใช้ได้แก่Metronidazole 2 กรัม รับประทานครั้งเดียว
Metronidazole 500 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน
Tinidazole 2 กรัม รับประทานครั้งเดียว


ขอขอบคุณ https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/312/%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A7


เอกสารอ้างอิงhttp://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/vaginitis/basics/treatment/con-20022645 access 23/04/2016
2011 European (IUSTI/WHO) Guideline on the Management of Vaginal Discharge.
http://www.cdc.gov/std/treatment/2010/vaginal-discharge.htm access 27/04/2016